ถ้าพูดถึง “รังแค” หลายคนอาจจะคุ้นเคยและคิดว่าเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ แต่รังแคอาจเป็นเรื่องยุ่งยากกว่านั้น พ.ญ.นัทจิรา จียาศักดิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง จึงได้อธิบายเกี่ยวกับโรครังแคเอาไว้ และเราก็อยากให้สาวๆ ได้อ่านกันนะคะ
“รังแค” ในทางการแพทย์เป็นชื่อเรียกสะเก็ดที่หลุดลอกออกมาจากหนังกำพร้าชั้นนอกสุดของหนังศีรษะในอัตราที่รวดเร็วและปริมาณที่มากกว่าปกติ จนสามารถสังเกตเห็นได้ชัดทั้งบนเส้นผม หนังศีรษะ หรือเศษที่ร่วงลงมาบนไหล่ โดยคนที่เป็นรังแคมักเป็นทั่วทั้งศีรษะ มีลักษณะเป็นขุย สะเก็ด หรือแผ่นสีขาว หลุดลอกออกมา ซึ่งไม่ว่าจะผิวแห้งหรือผิวมันเกินไปก็สามารถเป็นรังแคได้ทั้งนั้นค่ะ และเวลาเป็นรังแคก็มักจะมีอาการคันร่วมด้วย ส่วนรังแคเกิดจากสาเหตุอะไร และเราจะรับมือกับรังแคยังไงให้ถูกวิธี ลองไปดูพร้อมๆ กันเลยค่ะ!
สาเหตุของการเกิดรังแค
หลายคนอาจจะคิดว่ารังแคเกิดขึ้นจากการไม่สระผมเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วนั่นไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดอย่างที่เข้าใจนะคะ รังแคเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุเลยล่ะ ทั้งเรื่องความสะอาด เชื้อรา หรือแม้กระทั่งสภาพอากาศ และพฤติกรรมของบุคคลด้วยนะคะ
สาเหตุที่พบได้บ่อยก็คือ เชื้อราชนิดยีสต์ชื่อ Pityrosporum Ovale ซึ่งจริงๆ แล้วมีอยู่เป็นปกติบนหนังศีรษะ แต่ในบางคนและบางครั้งเชื้อราชนิดนี้ก็เพิ่มจำนวนขึ้นจากภาวะความเครียด ความผิดปกติของฮอร์โมน การสระผมแบบนานๆ ครั้ง จนหนังศีรษะเกิดความมัน และเซลล์หนังศีรษะที่ตายแล้วมาก่อตัวรวมกันจนเป็นรังแคขึ้นมา กลายเป็นรังแคที่กวนใจเรานั่นเอง
หรือบางคนอาจจะเป็นรังแคเพราะแพ้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม จนทำให้ผมและผิวหนังศีรษะแห้งลอก ซึ่งรังแคที่เกิดจากผิวแห้ง ขุยมักจะมีขนาดเล็กและมีความมันน้อยกว่ารังแคจากสาเหตุอื่นๆ แต่จะไม่ค่อยมีอาการอักเสบหรือระคายเคืองหนังศีรษะค่ะ
ระดับความรุนแรงเมื่อเป็นขุยบนหนังศีรษะ
โรครังแค
โรค “รังแค” ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของขุยบนหนังศีรษะ ถ้าใครสังเกตว่าตัวเองอาจจะเป็นโรครังแค ถ้าไม่รุนแรงส่วนใหญ่มักจะควบคุมได้โดยการใช้ แชมพูขจัดรังแค (Anti – Dandruff Shampoo) ที่หาซื้อตามร้านทั่วไป แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นๆ หายๆ แนะนำให้ใช้ แชมพูยา (Medicated Anti-Dandruff Shampoo) สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปค่ะ แต่ถ้ามีอาการรุนแรง ใช้แชมพูยาหลายสัปดาห์แล้วก็ไม่หาย หรือว่ามีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ก็แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องจะดีกว่า ซึ่งแพทย์อาจจะให้ใช้ยารักษารังแคประเภทสเตียรอยด์ (Steroid Lotion) ซึ่งในกรณีนี้ควรใช้เท่าที่จำเป็น และไม่ใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานเกินไปนะคะ ไม่อย่างนั้นจะทำให้ผิวบางลง และอาจทำให้เป็นสิวจากยาได้ด้วย
โรคเซ็บเดิร์ม
นอกจากโรครังแคแล้ว อาการที่รุนแรงกว่านั้นคืออาจจะเป็นโรคเซ็บเดิร์ม ซึ่งอาการจะมีสะเก็ดที่ลอกหลุดจากหนังศีรษะมีลักษณะมันๆ พร้อมกับ หนังศีรษะอักเสบและแดง รวมถึงอาจจะเป็นผื่นแดงเป็นขุยที่หัวคิ้ว ข้างจมูก หรือหลังหูร่วมด้วย โดยโรคนี้มีมีชื่อทางการแพทย์ว่า Seborrheic Dermatitis หรือที่เรารู้จักกันสั้นๆ ว่า “เซ็บเดิร์ม” นี่แหละค่ะ เป็นโรคที่เป็นเรื้อรังที่ไม่หายขาด มักจะกำเริบหรือเห่อเป็นพักๆ ส่วนสาเหตุก็ยังไม่แน่ชัดว่าเพราะอะไร แต่มักพบเชื้อราในปริมาณที่มากกว่าปกติ จึงแนะนำให้ใช้แชมพูยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อรา ในการรักษาอาการบริเวณหนังศีรษะเช่นเดียวกัน
โรคสะเก็ดเงิน
ลองสังเกตตัวเองดูว่าถ้าหากมีปื้นแดงหนาที่หนังศีรษะ แล้วมีสะเก็ดขาวด้านบนปื้น หรือบางคนอาจจะเป็นบริเวณเลยไรผมออกมาด้านหน้าผาก แบบนั้นน่าจะเข้าข่ายว่าเป็นโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งโรคนี้จะพบผื่นแบบเดียวกับบนหนังศีรษะตามผิวหนังบริเวณอื่นของร่างกาย ร่วมกับความผิดปกติของเล็บ และมีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบร่วมด้วยได้
ปัญหาที่พบบ่อยของคนเป็นรังแค
พ.ญ.นัทจิรา จียาศักดิ์ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ได้อธิบายเอาไว้ว่า คนไข้ที่เข้ามาปรึกษาเรื่องเป็นรังแค ส่วนใหญ่จะ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง โดยการเปลี่ยนแชมพูมาหลายแบบแล้ว แต่รังแคก็กลับไม่หายขาด สาเหตุก็เป็นเพราะว่า แชมพูขจัดรังแค (Non-Medicated Shampoo) ที่หาซื้อได้ตามร้านทั่วไป จะไม่สามารถขจัดรังแคได้เกลี้ยง 100% นั่นเองค่ะ โดยเฉพาะคนที่เป็นเยอะๆ และเรื้อรัง
เป็นรังแคใช้ยาอะไรดี
แต่ตัวยาที่จะสามารถช่วยรักษารังแคได้ พ.ญ.นัทจิรา จียาศักดิ์ แนะนำว่าควรจะเป็นแชมพูยาที่มีตัวยาซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) 2.5% ซึ่งจะมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อรา และบางตัวก็ลดการหลุดลอกของผิวหนังได้ด้วย โดยเป็นตัวยาเดียวกับที่ใช้รักษาโรคเกลื้อนนั่นเอง จึงทำให้ได้ผลดีกว่า เนื่องจากแก้ปัญหาได้ตรงจุด เพราะจะออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา Pityrosporum Ovale ช่วยลดอัตราการตายและหลุดลอกของเซลล์บนหนังศีรษะ รวมถึงช่วยลดอาการคันได้ด้วย แชมพูยาสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป รวมทั้ง Boots และ Watson ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก พ.ญ.นัทจิรา จียาศักดิ์
ขอบคุณภาพประกอบจาก netdoctor, healthy-hair-tips, prima, coolmagz