หยุดหายใจขณะหลับเป็นภาวะที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจระหว่างที่นอนหลับ ทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจเป็นช่วงๆ เมื่อมีการอุดกั้นของทางเดินหายใจ ก็จะทำให้มีระดับออกซิเจนในเลือดลดลง นอนหลับไม่สนิท มีการตื่นนอนบ่อยๆ ทำให้เกิดผลเสียอื่นๆ ตามมา พบว่าในผู้ที่มีอาการรุนแรง อาจมีการอุดกั้นได้บ่อยถึงมากกว่า 40-50 ครั้งต่อชั่วโมง ผลเสียของการเกิดภาวะนี้คือ
1.จะมีอาการนอนไม่สนิท ทำให้มีอาการง่วงนอนมากเวลากลางวัน มีความสามารถในการทำงานลดลง และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุระหว่างการขับรถยนตร์หรือประกอบอาชีพต่างๆ ได้สูงขึ้น
2.จะมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำเป็นช่วงๆร่วมกับประสาทอัตโนมัติทำงานมากขึ้น ทำให้มีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูง โรคเส้นโลหิตสมองตีบหรือแตกง่ายขึ้น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
อาการ
มักพบในผู้ที่มีลักษณะอ้วน น้ำหนักเกิน หรือมีลักษณะที่ผิดปกติบริเวณใบหน้าและช่องปาก ที่ทำให้ช่องทางเดินหายใจส่วนบนมีลักษณะแคบลง มักมีประวัติว่ามีการกรนเสียงดังและหยุดกรนเป็นช่วงๆ มีอาการตื่นนอนกลางคืนบ่อย บางครั้งตื่นและมีอาการหายใจเสียงดัง มีอาการนอนหลับมากและง่วงนอนในเวลากลางวันและอาจพบว่ามีความดันโลหิตสูง เส้นเลือดสมองหรือหัวใจตีบตัน
อาการที่มักนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ คือ ง่วงนอนมากผิดปรกติ ถ้าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว โดยที่ไม่มีเหตุปัจจัยอื่นๆ เช่น อดนอนจากการทำงาน หรือใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง ฯลฯ โดยเฉพาะร่วมกับการนอนกรนเสียงดัง หรือสังเกตพบหยุดหายใจขณะหลับ ควรจะมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป เนื่องจากปัจจุบันเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า โรคภาวะ ภาวะหยุดหายใจจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnea) เป็นภาวะที่นำมาซึ่งโรคต่างๆอีกมากมาย เช่น ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดหัวใจตีบตัน เส้นเลือดสมองตีบตัน เบาหวาน เป็นต้น
แนวทางการรักษา
ต้องยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจการนอน (polysomnogram) ถ้าพบว่ามีความผิดปกติจึงเลือกการรักษาที่เหมาะสม แนวทางการรักษาจะประกอบด้วย
1.การรักษาโดยทั่วไป เช่น พยายามลดน้ำหนัก ปรับสุขนิสัยการนอนให้เหมาะสม งดการดื่มสุราหรือแอลกอฮอลล์ก่อนเข้านอน
2.การให้เครื่องช่วยหายใจผ่านทางหน้ากากระหว่างการนอน (continuous positive airway pressure: CPAP) ปัจจุบันเป็นการรักษาหลักที่ได้ผลดีที่สุด
3.การใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม (dental appliance) เพื่อช่วยให้ช่องทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้นขณะนอนหลับ พบว่าวิธีนี้ มักจะได้ผลไม่ดีนัก และเลือกใช้ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง
4.การ ผ่าตัด พบว่าจะช่วยรักษาอาการกรนได้ดี แต่สำหรับการอุดกั้นของทางเดินหายใจผลที่ได้จากการผ่าตัดยังไม่แน่นอน ดังนั้นจึงควรมีการพิจารณาเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดเป็นรายๆ ไป
หากมีข้องสงสัยหรือต้องการปรึกษา ติดต่อที่ คลินิกโรคการนอนหลับ ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง รพ.มหาชัย โทร.0-3442-4990 ต่อ 1228 ( ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.mahachaihospital.com)