อาการนอนกรน เกิดจากการที่อากาศเคลื่อนผ่านทางเดินหายใจที่แคบลง ซึ่งมักเกิดจากการผ่อนคลายหรือหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนขณะ นอนหลับ เช่น กล้ามเนื้อบริเวณเพดานอ่อน , ลิ้นไก่, ผนังคอหอย หรือโคนลิ้น เป็นผลให้เกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่ออ่อนใน บริเวณดังกล่าวเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น อาการนอนกรนเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนบน
ส่วนภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้น เป็นภาวะที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากจนกระทั่ง ทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วงๆขณะนอนหลับ นอกจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อบริเวณเพดานอ่อน,ลิ้นไก่แล้ว สาเหตุอื่นๆ เช่น ต่อมทอนซิล และต่อมอดี-นอยด์ที่โต เป็นสาเหตุของอาการนอนกรนที่สำคัญในเด็ก ผู้ป่วยที่อ้วนมากอาจมีเนื้อเยื่อผนังคอที่หนาทำให้ทางเดินหายใจแคบลง ในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในระบบทางเดินหายใจส่วนบนก็ก่อให้เกิดการอุดกั้นทาง เดินหายใจได้เช่นกัน การที่มีโพรงจมูกอุดตัน ซึ่งมีสาเหตุจากหลายกรณี เช่นอาการคัดจมูกจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้, ความผิดปกติของผนังกั้นช่องจมูก, เนื้องอกในจมูกและโพรงอากาศข้างจมูก, ริดสีดวงจมูก, ไซนัสอักเสบ, การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือการกินยานอนหลับ ก็จะช่วยเสริมทำให้กล้ามเนื้อมีการคลายตัวมากขึ้น และอาจมีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น ผู้ที่มีปัญหานอนกรนอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีผลกระทบที่สำคัญต่อสุขภาพ ทำให้สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ จะทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่สนิท มีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จะมีแนวโน้มที่จะทำงานได้ไม่ดีนัก เนื่องจากมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน และมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุในท้องถนนได้ง่ายเมื่อเทียบกับคนปกติ นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นมีอัตราเสี่ยงสูง ที่จะเป็นโรคอื่นๆหลายโรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง, กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคของหลอดเลือดในสมอง ตลอดจนการมีสมรรถภาพทางเพศที่เสื่อมลง ผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรนอย่างเดียวโดยไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยนั้น ถึงแม้ไม่มีผลกระทบมากนักต่อสุขภาพของตนเอง แต่จะมีผลกระทบต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้อื่น โดยเฉพาะกับคู่นอน, บุคคลอื่นๆ ในครอบครัว, เพื่อนบ้าน, หรือเพื่อนร่วมงาน เช่น ทำให้ผู้อื่นนอนหลับยาก หรืออาจมากจนกระทั่งมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดังกล่าวได้ เช่น อาจทำให้เกิดการหย่าร้างของคู่สามีภรรยา ดังนั้นผู้ที่มีอาการนอนกรนและผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจำเป็นที่ ต้องให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
อาการที่ทำให้สงสัยว่าอาจจะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
• ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความอ่อนล้าไม่สดชื่น รู้สึกว่านอนหลับไม่เต็มอิ่ม มีความรู้สึกเหมือนว่าไม่ได้หลับนอนมาทั้งคืน ทั้งๆ ที่ได้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย
• มีอาการง่วงนอนในเวลาทำงานกลางวัน จนไม่สามารถจะทำงานต่อได้ หรือมีอาการเผลอหลับบ่อยๆ
• นอนหลับไม่ราบรื่น ฝันร้ายหรือละเมอขณะหลับ นอนกระสับกระส่ายมาก
• คู่นอนหรือคนในครอบครัวสังเกตว่ามีอาการหายใจขัด หรือหยุดหายใจเป็นพักๆหายใจขณะนอนหลับ
• มีอาการสะดุ้งผวา หรือ หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ
• ในเด็กอาจมีท่านอนที่ผิดปกติ เช่น ชอบนอนตะแคง หรือ นอนคว่ำ หรือ อาจไม่มีสมาธิทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน หงุดหงิดง่าย หรือมีกิจกรรมต่างๆ ทำตลอดเวลา หรือมีปัสสาวะราดในเวลากลางคืน
• มีความดันโลหิตสูงซึ่งยังหาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน
• ประสิทธิภาพในการทำงานหรือผลการเรียนแย่ลง เพราะอาการง่วง, ขาดสมาธิ, พัฒนาการทางสมองและสติปัญญา และความจำแย่ลง
• สมรรถภาพทางเพศลดลง
การวินิจฉัย
การ วินิจฉัยแพทย์จำเป็นต้องอาศัย ประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจพิเศษเพิ่มเติม สำหรับการตรวจร่างกาย แพทย์จะให้ความสนใจในเรื่องต่อไปนี้
• ลักษณะทั่วไปของคนไข้ ที่อาจมีภาวะส่งเสริมให้เกิดอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ เช่น คอสั้น อ้วน น้ำหนักมาก มีความผิดปกติในลักษณะโครงสร้างของใบหน้าเช่น กรามล่างถอยร่นไปด้านหลังมากกว่าปกติ
• การตรวจทั่วไป ได้แก่การวัดความดันโลหิต วัดเส้นรอบวงคอ การตรวจการทำงานของหัวใจและปอด
• การตรวจทางหู คอ จมูกอย่างละเอียด ซึ่งประกอบด้วยการตรวจในโพรงจมูก การตรวจหลังโพรงจมูก ช่องปาก คอหอย เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ทอนซิล โคนลิ้นและกล่องเสียง
• การตรวจการนอนหลับ(Polysomnography) ถือเป็นการตรวจที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการวินิจฉัย และบอกความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นอกจากนั้นยังช่วยวินิจฉัยแยกภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการนอนกรนธรรมดา และสามารถบอกคุณภาพของการนอนหลับว่าหลับได้ดีหรือไม่ มีความผิดปกติเกิดขึ้นในขณะนอนหลับหรือไม่ การตรวจการนอนหลับจะใช้เวลาตรวจช่วงกลางคืนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการนอนหลับในคนทั่วไป
การรักษา
1. การรักษาโดยวิธีที่ไม่ผ่าตัด
1.1 ลดน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหาร และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและเพิ่มความกระชับและความตึงตัวให้กับกล้ามเนื้อ
1.2 หลีกเลี่ยงยาหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์, ยานอนหลับ, ยากล่อมประสาท หรือยาแก้แพ้ ชนิดที่ทำให้ง่วง โดยเฉพาะก่อนนอน
1.3 การปรับเปลี่ยนท่าทางในการนอน เช่น ไม่ควรนอนในท่านอนหงาย เนื่องจากจะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่ายกว่าการนอนในท่าตะแคง
1.4 การใช้เครื่องมือช่วยทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น หรือไม่อุดกั้นขณะนอนหลับที่เรียกว่า Continuous positive airway pressure (CPAP) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่รุนแรงและไม่เหมาะ ที่จะรักษาด้วยการผ่าตัด โดยเป็นการนำหน้ากาก ครอบจมูกขณะนอนหลับ ซึ่งหน้ากากนี้จะต่อเข้ากับเครื่องที่สามารถขับลมซึ่งมีแรงดันเป็นบวกออกมา ไม่ให้ทางเดินหายใจเกิดการอุดกั้นขณะหายใจเข้า
2. การรักษาโดยวิธีผ่าตัด จุดประสงค์ของการผ่าตัดคือ เพิ่มขนาดของทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้น และแก้ไขลักษณะทางกายวิภาคที่ผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่การอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจ มีข้อบ่งชี้ คือ
1. มีความผิดปกติทางกายวิภาค ที่เป็นสาเหตุ ทำให้เกิดภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ
2. มีผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวและสังคมมาก เช่น ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงมาก เสียงกรนรบกวนคู่นอนมาก ทำให้นอนไม่หลับ
3. ล้มเหลวจากการรักษาโดยใช้วิธีไม่ผ่าตัด โดยผู้ป่วยยังมีอาการกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับอยู่ และ/หรือ มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นกับระบบต่างๆของร่างกาย การผ่าตัดรักษาซึ่งทำกันบ่อย ได้แก่
3.1 ในกรณีของเด็กมักมีการอุดกั้นทางเดินหายใจในระดับคอหอย ซึ่งเกิดจากการมีต่อมทอนซิลและอดีนอยด์ที่โตผิดปกติ ดังนั้นการผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลและอดีนอยด์ออกก็อาจเป็นการเพียงพอ
3.2 ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้น มากกว่าร้อยละ 90 มีการอุดกั้นทางเดินหายใจบริเวณเพดานอ่อน ทอนซิล ลิ้นไก่ และโคนลิ้น ซึ่งมักเกิดจากกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณดังกล่าวนี้มีการผ่อนคลาย หรือหย่อนยานมากกว่าปกติ หรือมีปริมาณเนื้อเยื่อที่มากเกินไป การผ่าตัดแก้ไขสาเหตุดังกล่าวนี้มีหลายวิธี แต่วิธีที่นิยมกัน ได้แก่ การผ่าตัดตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณดังกล่าวให้ตึงและกระชับ ขึ้น (Uvulopalatopharyngoplasty : UPPP) ซึ่งจะช่วยเปิดทางเดินหายใจส่วนบนให้โล่งขึ้น ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า การผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์(Laser-assisted uvulopalatoplasty) นอกจากนั้นยังมีการผ่าตัดด้วยคลื่นความถี่สูง (Radiofrequency volumetric tissue reduction :RFVTR) โดยการส่งคลื่นความถี่สูงให้กลายเป็นพลังงานความร้อนเพื่อสลายเนื้อเยื่อใน ทางเดินหายใจที่มีมากเกินไป และจะทำให้เกิดเนื้อเยื่อพังผืด เกิดการหดและลดปริมาตรของเนื้อเยื่อ
3.3 กรณีเกิดจากการอุดกั้นในระดับจมูกจากก้อนในโพรงจมูก ผนังกั้นจมูกคด หรือโพรงจมูก และ/หรือ ไซนัสอักเสบ การผ่าตัดรักษาสาเหตุเหล่านั้นก็จะช่วยบรรเทาให้อาการนอนกรนและภาวะหยุด หายใจขณะหลับดีขึ้น
อย่าง ไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนั้นการทำผ่าตัดแก้ไขจุดใดจุดหนึ่งเพียงอย่างเดียว อาจไม่ช่วยแก้ไขอาการให้ดีขึ้นมากนัก และการรักษาที่เหมาะสมนั้น นอกจากขึ้นกับสาเหตุที่ตรวจพบแล้ว ยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ในผู้ป่วยแต่ละรายด้วย เช่น สุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วย ภาวะแทรกซ้อนของภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่มีผลต่อระบบต่างๆของร่างกาย โรคประจำตัว สภาพเศรษฐานะและสังคมของผู้ป่วย เป็นต้น ดังนั้นเมื่อบุคคลในบ้านของท่านหรือตัวท่านเอง มีหรือสงสัยว่ามีอาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย ตรวจหาสาเหตุของโรค ประเมินความรุนแรง และจะได้พิจารณาแนวทางรักษาที่เหมาะสมต่อไป การให้การรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที จะช่วยให้อัตราการตายลดลง และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
ขอขอบพระคุณ แหล่งที่มาข้อมูล ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย www.rcot.org/