นอกจากเรื่องอาการปวดท้องปวดตัวของผู้หญิงในระหว่างที่มีประจำเดือนแล้ว ผู้หญิงหลายคนก็มีอาการปวดหัวไมเกรนระหว่างที่มีประจำเดือนได้อีกด้วย เพราะในช่วงที่มีประจำเดือนจะเป็นช่วงที่เส้นเลือดขยายตัว แต่ฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำลง ฮอร์โมนในร่างกายเกิดความแปรปรวน ทำให้เกิดการกระตุ้นอาการปวดหัวไมเกรนขึ้นได้ แต่มีวิธีแก้ค่า จะป้องกันและลดอาการปวดหัวไมเกรนระหว่างมีประจำเดือนอย่างไร เรามีข้อมูลมาฝากกัน
กินหวานแต่พอดี ในช่วงก่อนมีประจำเดือน 4-5 วัน
สาวๆ หลายคนจะมีอาการโหยของหวานมากขึ้นในช่วงก่อนมาประจำเดือน แต่หากกินขนมหวานๆ เข้าไปเป็นจำนวนมาก จะส่งผลกับระดับน้ำตาลในเลือดช่วงมาประจำเดือน ทำให้ยิ่งกินก็ยิ่งหิว และยิ่งกินหวานมากเกินไปก็เป็นสาเหตุของอาการปวดหัวได้นะคะ
จึงควรเลี่ยงการกินของหวานๆ จำนวนมากก่อนมาประจำเดือน 4-5 วัน แต่ยังกินได้อยู่ในจำนวนน้อยๆ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด จะช่วยลดอาการปวดหัวได้ด้วยค่ะ
รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
ผักและผลไม้มีวิตามินและแร่ธาตุอาหารที่จำเป็น ช่วยปรับสมดุลให้ความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย ลดอาการตึงของกล้ามเนื้อที่เป็นสาเหตุของอาการปวดได้ ในช่วงที่มีประจำเดือนลองทานผลไม้แทนขนมหวานจะช่วยลดอาการปวดหัวได้เพิ่มมากขึ้น
ออกกำลังกายเบาๆ
อาการปวดหัวบริเวณท้ายทอยหรือไมเกรน ก็เกิดจากอาการตึงตามกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายได้นะคะ จึงควรเลือกการออกกำลังกายเบาๆ อย่างโยคะ หรือการยืดเส้น เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและสร้างสมดุลให้ร่างกายได้ยืดหยุ่นและกระตุ้นระบบไหลเวียนของเลือดให้สูบฉีดไปที่สมอง จะลดอาการปวดหัวได้อีกวิธีค่ะ
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
อาการนอนไม่หลับ อาจจะเกิดขึ้นได้เพราะฮอร์โมนที่แปรปรวนในช่วงมีประจำเดือน แต่หากนอนไม่หลับจนร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนได้นะคะ ดังนั้นสาวๆ ที่อยู่ในช่วงมีประจำ ต้องนอนหลับให้เพียงพอ ลองปิดไฟในห้องให้มืดและเงียบ หรือจะเปิดเพลงคลอเบาๆ ให้ผ่อนคลายความเครียด จะช่วยให้หลับได้ดีขึ้น
กินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวด
หากอาการปวดไม่บรรเทา ให้ทานยาแก้ปวดและนอนหลับตาเพื่อผ่อนคลายความเครียดและกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายดูก่อน แต่ถ้าหากมีอาการคลื่นไส้ อยากอาเจียน บ้านหมุนและตาพร่าร่วมด้วย ควรรีบไปหาหมอเพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรับยาที่ถูกต้องจะดีกว่าค่า
ลองเก็บเอาไว้ทำในช่วงมีประจำเดือนแล้วปวดหัวไมเกรนกันได้ ลดของหวาน กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และหาหมอเมื่อรู้สึกว่าไม่ไหวนะคะ
ขอบคุณ : thehealthy.com, healthline.com, menstrual-cycle-calculator.com, freepik.com, healthline.com, pathways.health